วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Development)

การพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Development)



การพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership Development)  โดย ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ
ผู้ที่ประสบความสำเร็จมักจะมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปจากคนทั่วๆไป นั่นก็คือ ภาวะผู้นำ (Leadership) เพราะสิ่งนี้จะเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนให้ชีวิตของคนมุ่งไปข้างหน้า พลังดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดจากพลังภายในตัวคนๆนั้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพลังร่วม(Synergy)ระหว่างพลังภายในของคนๆนั้นกับพลังของคนอื่นๆรอบข้างที่เป็นผู้ตามซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมให้พลังงานที่ขับเคลื่อนมีเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ
เราจะเห็นคนบางคนไม่ได้เป็นคนเก่งงานหรือมีความสามารถเลอเสิศอะไรไปกว่าคนอื่นๆ พูดง่ายๆว่าฝีมือในการทำงานก็ไม่ได้หวือหวาเท่าไหร่ แต่ทำไมเขาจึงสามารถชักจูง โน้มน้าว นำเสนอให้ผู้บริหารเห็นด้วย คล้อยตามและอนุมัติโครงการที่เขาเสนออยู่เสมอ รวมทั้งคนที่ทำงานรอบๆตัวเขาก็ยินยอมพร้อมใจและรู้สึกยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับเขา ทั้งๆที่คนบางคนที่ทำงานให้เขามีความสามารถในการทำงานเก่งกว่าเขาตั้งหลายเท่า
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผมจะเฉลยคำตอบให้สั้นๆ ง่ายๆ แต่สร้างได้ยาก นั่นก็คือ เขาที่ถูกกล่าวถึงนั้นมีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำนั่นเอง คุณสมบัติการเป็นผู้นำไม่ได้หมายถึงเพียงกล้าแสดงความคิดเห็นเวลาอยู่ในที่ประชุม พูดมากกว่าคนอื่นเสมอ ชอบเสนอหน้า หรือแสดงตนเป็นผู้นำอยู่เสมอ แต่หมายถึง ความเหนือกว่าบุคคลอื่นในด้านจิตวิทยา ระบบการคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ บุคลิกภาพ รวมถึงปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาต่างๆ

ถ้าภาวะผู้นำเปรียบเสมือนคุณภาพของผลไม้ กระบวนการในการพัฒนาภาวะผู้นำก็น่าจะหมายถึง การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี การคัดเลือกดินที่สมบูรณ์ การรดน้ำพรวนดินอย่างถูกต้อง รวมถึงการกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืช ดังนั้น
การที่เราจะพัฒนาภาวะผู้นำจึงไม่สามารถทำได้โดยตรงที่ผลของต้นไม้ แต่จะต้องพัฒนากระบวนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของผลไม้มากกว่า ถ้าเราจะพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำตามกระบวนการของผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพแล้ว ควรจะปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การหาเมล็ดพันธุ์
สิ่งแรกสุดที่เราต้องทำในการพัฒนาภาวะผู้นำคือ การหารูปแบบ ตัวอย่าง (Model) หรือสไตล์ผู้นำที่เราชอบและต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ บุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ ก่อน อาจจะเป็นลักษณะของผู้นำเพียงคนเดียว หรือเป็นส่วนผสมระหว่างผู้นำหลายๆคนก็ได้ เพื่อให้เราได้รูปแบบผู้นำที่เราพึงปรารถนาก่อนก่อนที่จะลงมือทำอย่างอื่น นอกจากนี้เราสามารถหารูปแบบของภาวะผู้นำที่ดีได้จากตำรับตำราหรือหนังสือต่างๆได้ไม่ยากนัก

2. การหาดิน
หมายถึง การเสาะหาที่เพาะบ่มรูปแบบของผู้นำที่เรากำหนดไว้แล้ว เช่น ถ้าต้องการมีภาวะผู้นำเหมือนนักการเมือง เราควรจะนำตัวเข้าไปใกล้ชิดกับวงการทางการเมืองหรือนักการเมือง ถ้าเราต้องการมีภาวะผู้นำแบบนักพูดทอล์คโชว์ เราคงจะต้องนำตัวเองเข้าไปคลุกคลีกับคนในวงการนี้หรือถ้าเราต้องการมีภาวะผู้นำเหมือนนักธุรกิจบางคน เราก็อาจจะต้องนำตัวเองเข้าไปใกล้ชิดกับวงการธุรกิจ เพื่อใช้สภาพแวดล้อมนั้นๆเป็นที่ฝังตัวในการแตกหน่อภาวะผู้นำในลักษณะที่ต้องการ

3. การรดน้ำพรวนดิน
การพัฒนาศักยภาพภาวะผู้นำไม่สามารถทำได้ภายในชั่วข้ามคืนเดียว แต่ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาฝึกฝน ปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เราพรวนดินนั้น นอกจากเราจะทำให้ดินร่วนซุยเพื่อให้ต้นไม้ดูดซึมน้ำได้ง่ายแล้ว เราควรจะสังเกตดูด้วยว่าดินประเภทนั้นถูกกับต้นไม้ที่เราปลูกหรือไม่ มีอะไรผิดสังเกตหรือไม่ จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที เช่นเดียวกันกับการที่เราคิดว่าเราสามารถฝึกภาวะผู้นำแบบที่เราต้องการได้ แต่เมื่อฝึกไประยะหนึ่งแล้ว อาจจะพบว่าบางสิ่งบางอย่างอาจจะไม่เหมาะกับตัวเราก็ได้ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการฝึก การเรียนรู้ หรือสภาพแวดล้อมใหม่

4. การกำจัดแมลงศัตรูพืช
อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาภาวะผู้นำส่วนมากแล้วไม่ได้อยู่ที่ศัตรูภายนอก แต่มักจะเป็นตัวหนอนที่อยู่ภายในมากกว่า นั่นก็คือ การขาดความมั่นใจในตัวเอง คนหลายคนที่มีศักยภาพมีความสามารถในการเป็นผู้นำที่ดีได้ แต่มักจะขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความมั่นใจ คิดว่าคนอื่นดีกว่าตัวเอง และบางครั้งก็ไปแคร์ต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกมากเกินไป เช่น คนที่ไม่กล้าออกไปพูดต่อหน้าชุมชนเพราะคิดไปก่อนว่าคนที่ฟังเก่งกว่าเรา มีหลายสิ่งหลายอย่างดีกว่าเรา กลัวว่าจะพูดผิดบ้าง กลัวว่าจะพูดไม่ได้ดีบ้าง กลัวว่าจะโดนหัวเราะบ้าง ทั้งๆที่ตัวเองก็พูดเก่ง พูดดีตอนที่อยู่กับเพื่อนๆ อยู่กับลูกน้อง หรืออยู่กับคนที่คิดว่าด้อยกว่าตัวเอง ดังนั้น ศัตรูของการพัฒนาศักยภาพผู้นำตัวที่สำคัญคือ ตัวหนอนที่คอยกัดกินความมั่นใจของเรานั่นเอง

5. การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่
คนที่มีภาวะผู้นำดี มิได้หมายถึงเพียงบุคคลที่มีลักษณะเป็นผู้นำเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นคนที่มีการพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เช่น สามารถปกครองพนักงานระดับล่างได้แล้ว ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถปกครองพนักงานในระดับสูงขึ้นไปได้ ภาวะผู้นำจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะถ้าผู้นำตามโลกไม่ทันหรือตามคนที่เป็นผู้ตามไม่ทัน โอกาสที่ผู้นำคนนั้นจะตกลงมาเป็นผู้ตามก็มีสูงมาก

ดังนั้น การพัฒนาภาวะผู้นำจึงต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วนทั้งในการกำหนดรูปแบบของผู้นำที่เราต้องการจะเป็น การเลือกสภาพแวดล้อมในการพัฒนาตนเอง การหมั่นฝึกฝนด้วยวิธีการที่เหมาะสม การขจัดปัญหาอุปสรรค รวมถึงการพัฒนาให้มีการยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาภาวะผู้นำคือ แรงจูงใจในการสร้างภาวะผู้นำ บางคนมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเองเพราะกำหนดเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างชัดเจน บางคนมีแรงจูงใจที่เกิดจากแรงกดดันบางสิ่งบางอย่างและต้องการเอาชนะแรงกดดันนั้นๆ ด้วยการสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำขึ้นมาเป็นเกราะคอยปกป้องตัวเอง ผมมีความมั่นใจว่าคนทุกคนมีพื้นฐานของภาวะผู้นำอยู่ในตัวทุกคน แต่สิ่งที่ทำให้ภาวะผู้นำของแต่ละคนมีความแตกต่างกันคือ ความสามารถในการดึงเอาภาวะผู้นำที่มีอยู่ภายในตัวออกมาใช้นั่นเอง
ที่มา http://library.uru.ac.th/webdb/images/MM11.htm

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคต

ภาวะผู้นำ เป็น กระบวนการที่ผู้นำหรือผู้ที่มีภาวะผู้นำ เป็นผู้ที่ชักนำ จูงใจ ชี้นำ ใช้อิทธิพลหรืออำนาจที่มีอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้หรือกระตุ้นให้หรือชี้นำให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้ ยินดี เต็มใจ พร้อมใจ ยินดีในการกระทำการ ให้มีความกระตือรือร้นหรือร่วมดำเนินการอย่าใดอย่างหนึ่งตามที่ผู้นำต้องการ หรือตามที่ผู้นำต้องการให้มีพฤติกรรมไปในทิศทางที่เขาชักนำในการทำงานหรือ ดำเนินกิจกรรมที่ผู้นำนั้นรับผิดชอบหรือตามที่ผู้นำนั้นต้องการ ซึ่งสิ่งที่ผู้นำในโรงเรียนในอนาคต ควรมีเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาภาวะผู้นำ อย่างน้อยน่าจะประกอบด้วยสิ่งสำคัญเหล่านี้

     1) ความสามารถเชิงวิสัยทัศน์ การวางแผนและการกำหนดเป้าหมายขององค์การ
     2) ความสามารถในการทำงานแบบมีส่วนร่วม 
     3) ความสามารถในการสื่อสารแบบมีประสิทธิผล
     4) ความสามารถในกาสร้างทีมงาน 
     5) ความสามารถในการดำเนินกระบวนการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม
     6) ความสามารถในการจัดการกับปัญหา 
     7) ความสามารถในเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงองค์การ



     เป็นบทความที่อธิบายถึงบทบาทและแนว ทางในการปฏิบัติของผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคตที่ควรนำมาพิจารณา ในการบริหารงานในสถานศึกษา ว่ามีความสามารถในแต่ละด้านแล้วหรือยัง ซึ่งความสามารถเหล่านั้นเป็นความสามารถที่ ถ้าผู้บริหารคนใดมีมากก็จะทำให้บริหารงานในหน่วยงานของตนได้ดี
การนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน
     จากบทความภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคตนี้ แนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้คือ นำเอาองค์ความรู้นี้ไปวิเคราะห์ว่ามีประเด็นใดที่สมารถจะดำเนินการได้ ก่อน-หลังตามลำดับและนำไปส่งเสริมให้บุคลากรในสถานศึกษามีความสามารถในแต่ละ ด้านที่กล่าวถึง เพราะการเป็นผู้นำนั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่เป็นผู้บริการสถานศึกษาเท่า นั้น แต่บุคลากรทุกคนในสถานศึกษาจะต้องมีความรู้และความสามารถดังกล่าวด้วย เพราะในบางสถานการณ์ก็ต้องเป็นผู้นำในบางเรื่องเช่นเดียวกัน ตามทฤษฎีการบริหารตามสถานการณ์ เพื่อการทำงานท่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพต่อไป



      ความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์การนำไปประยุกต์ใช้/ในหน่วยงาน


  เป็นแนวทางในการนำเอาองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน และนำเอาแนวทางและวิธีการในการพัฒนาบุคลากรไปพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความ เข้าในในการจัดการเรียนรู้แบบแบบบูรณาการ และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแบบอื่น ๆ อีก เพื่อให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน และเป็นเครื่องมือในการนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของบุคลากรในสถาน ศึกษา เป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวในหน่วยงาน นำ เอาข้อเสนอแนะมาปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลตามี่ผู้วิจัยศึกษาและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของการนิเทศ ที่ควรจะมีการนิเทศอย่างจริงจัง จากผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในเรื่องนั้น ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ครูเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ บูรณาการและส่งเสริมให้ครูเพิ่มพูนความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น เพราะการนิเทศที่จริงจังจะทำให้ครูมีความกระตือรือร้นและตื่นตัวอยู่ตลอด เวลา และการสนับสนุนในด้านงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อให้สะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และในในการจัดหาสื่อการเรียนรู้และองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับเนื้อหา ให้มีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์


ที่มา  http://www.vcharkarn.com/vteacher/38

ภาวะผู้นำกับการขับเคลื่อนนโยบาย

   ภาวะผู้นำถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดัน ให้นโยบายประสบความสำเร็จ  ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ ดังนี้คือ

1. ความรู้และความสามารถ ในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ รู้อย่างถ่องแท้และรู้รอบด้าน ประมาณว่ารู้ 360 องศา ทำให้สามารถที่จะวางแผนยุทธศาสตร์ กำหนดนโยบาย  ให้เกิดความชัดเจน สามารถเข้าใจในยุทธวิธีและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 2. ผู้นำยังต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล โดยอาศัย เทคโนโลย ีทางด้านข้อมูลข่าวสารต่างๆเป็นเครื่องมือในการที่จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ  ความต้องการของประชาชน ปัญหาอื่นๆที่มีผลต่อส่วนรวม เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนนโยบายและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

3.บทบาทของผู้นำในอดีต หรือบุคคลเพียงคนเดียวไม่สามารถรับผิดชอบได้ ในยุคนี้จึงเน้น การพัฒนา ภาวะ ผู้นำควบคู่ไปกับการทำงานเป็นทีมเป็นสำคัญ และในขณะเดียวกัน การติดต่อสื่อสารภาย ในองค์การก็ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะการที่จะสื่อสารในเรื่องของนโบาย และยุทธศาสตร์ ไปสู่ผู้ปฏิบัติให้มีความเข้าใจและมีความรู้ไปในทิศทางเดียวกันประสิทธิภาพของการขับเคลื่อนนโยบายก็จะเพิ่มมากขึ้นและเป็นการช่วยลดปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี

4.ผู้นำยังต้องมีความสามารถในการจูงใจ ทำ ให้เห็นคล้อยตามและเกิดความกระตือรือล้นในการดำเนินตามนโยบาย โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น ให้มีส่วนร่วมในทีม มีส่วนร่วมในความสำเร็จที่สำคัญ ให้การยอมรับและมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าเป็นต้น ซึ่งจะส่งผล ให้เกิดความเข้าใจและแนวคิดในวัตถุประสงค ์ นำไปสู่ความสำเร็จ 

5.มีความกล้าการตัดสินใจทำหรือไม่ทำ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการที่จะกำหนดนโยบาย กล้าคิดกล้าทำและกล้าที่จะรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดข้น จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการขับเคลื่อนนโยบาย  ช่วยในการลดขั้นตอนการปฏิบัติตามนโยบาย

6. ภาวะผู้นำด้านคุณธรรม ในการดำเนินนโยบาย โปร่งใส ตรวจสอบได้การดำเนินนโยบายทุกขั้นตอนควรอยู่บนพื้นฐานของการมีจริยธรรม ความดี และสำนึกถึงผลประโยชน์ของ ประชาชนและส่วนรวม มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จะทำให้นโยบายขับเคลื่อนไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนไม่มีอุปสรรคมากมายและสามารถแก้ไขได้ง่ายเพราะทุกฝ่ายมักจะเห็นดีด้วยกับนโยบายที่ดีและสร้างสรรค์

 ภาวะผู้นำมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเป็นอย่างยิ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดัน ให้นโยบายประสบความสำเร็จ  ตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน  ส่วนรวมและทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน